tcas จัดอันดับรอบ 3

สมัคร TCAS รอบที่ 3 Admission 1 จัดอันดับ 6 อย่างไร ให้ได้ลุ้น !!

สมัคร TCAS รอบที่ 3 Admission 1 จัดอันดับ 6 อย่างไร ให้ได้ลุ้น !!

TCAS รอบที่ 3 Admission 1 นี้ใช้ผลคะแนนของการสอบครบทุกสนามสอบเลย ทั้ง GAT/PAT, O-NET, วิชาสามัญ, วิชาเฉพาะของแต่ละมหาลัย หรือ กสพท. และ GPAX  โดยในรอบนี้จำกัดจำนวนที่เลือกได้เพียง 6 สาขาวิชาเท่านั้น คราวนี้เรามาจะเลือก 6 อันดับกันดีกว่า เลือกอย่างไร ให้ได้ลุ้น

1. เข้าใจระบบ ในรอบนี้ก่อน

TCAS ในแต่ละรอบมีการออกแบบกฎกติกาที่แตกต่างกัน รอบนี้เป็นอย่างไร ไปดูกัน

1. เลือกได้ 6 อันดับ

2. เรียงตามลำดับความชอบ โดยเรียงตามลำดับที่ชอบ

3. สำหรับสายแพทย์ กสพท สมัครในรอบนี้นะ

4.  มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ ของแต่ละมหาวิทยาลัยเอง แต่รับสมัครผ่านระบบ mytcas.com ของ ทปอ.

5. มหาวิทยาลัยดำเนินการคัดเลือกเอง แล้วส่งผลการคัดเลือกกลับให้ ทปอ. โดยเรียงลำดับคนที่ต้องการมาให้ ทปอ.

6. ทปอ. จะประมวลผลตามลำดับที่น้องๆ เลือก

7. ทปอ. จะประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุดที่น้องสอบติด

8. ใช้ระบบ Auto Clearing (ยืนยันสิทธิ์ในวันสัมภาษณ์)

2. เลือกใช้คะแนนให้ถูกต้อง

คะแนนที่นำมาใช้ในรอบนี้ หลักๆ ประกอบด้วย 3 กลุ่มคะแนน ได้แก่ O-NET, GAT/PAT และ วิชาสามัญ และอาจจะมีเพิ่มเติม คือ วิชาเฉพาะ เช่น วิชาความถนัดทางแพทย์ หรืออาจจะเป็นวิชาความถนัดวิชาเฉพาะที่ทางมหาวิทยาลัยจัดสอบ การใช้คะแนนจึงขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาว่าจะกำหนดให้ใช้ค่าน้ำหนักอย่างไร หรืออาจจะมีบางโครงการที่กำหนดให้ใช้ในลักษณะของคะแนนขั้นต่ำ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือต้องรู้หลักการใช้คะแนนด้วย

2.1 การกำหนดคะแนนขั้นต่ำ 

คะแนนขั้นต่ำคือ เกณฑ์ของคะแนนที่น้องต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่าที่สาขากำหนด  มีลักษณะการใช้งาน 2 รูปแบบ

1. ใช้เป็นค่าน้ำหนักและใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำร่วมกัน เช่น การรับรอบที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดค่าหนักวิชาสามัญ วิชาสังคมฯ 20% และกำหนดคะแนนขั้นต่ำวิชาสังคม ไม่น้อยกว่า 25 คะแนน

2. ใช้เป็นแค่ตัวผ่านด่านเช็คคุณสมบัติ ว่าจะได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันหรือไม่ เช่น การรับรอบที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ กำหนดให้ใช้คะแนน GAT อย่างเดียวในการคัดเลือก แต่กำหนดคะแนน O-Net ภาษาอังกฤษ ขั้นต่ำ 50 คะแนน เพื่อผ่านด่านเข้าสู่การแข่งขัน

2.2 ค่าน้ำหนัก 

จะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ได้ แล้วดึงคะแนนมาใช้ตามค่าน้ำหนักที่คณะ/สาขากำหนด ตามสูตรการคำนวณคะแนนของแต่ละสถาบัน

2.3 อายุของคะแนน

GAT/PAT มีอายุ 2 ปี วิชาสามัญ อยู่ได้ 1 ปี และโอเน็ตไม่มีวันหมดอายุ แต่บางสาขาอาจกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น จุฬาฯ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ และ ม.ศิลปากร (คณะโบราณคดี) ที่กำหนดให้ใช้คะแนน GAT/PAT ปี 2562 เท่านั้น

3. ใช้ตัวช่วย  

ต้องยอมรับเลยว่า รอบนี้ข้อมูลที่น้อง ๆ จะใช้ประกอบในการเลือกคณะมีน้อยมาก เพราะหลายๆ มหาวิทยาลัยไม่มีวิธีคิดคะแนน และคะแนนสูงสุด-ต่ำสุด โดยเราสามารถหาตัวช่วยต่างๆ ได้ ดังนี้

3.1 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโวฒ มีโปรแกรมคำนวณคะแนนอัตโนมัติ ลองไปคำนวณดูได้ ที่เว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยนะจ้ะ

3.2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้วิธีคำนวณคะแนนแบบง่าย ๆ เอาคะแนนมาบวกกันเลย แต่มีกฎเกณฑ์กติกาเรื่องคะแนนขั้นต่ำ คะแนนเฉลี่ย และองค์ประกอบการคัดเลือกที่ยิบย่อยและหลากหลายมาก

3.3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศคะแนนต่ำสุด รอบที่ 3 ปี 62 แล้ว สามารถไปโหลดเอกสาร ได้ ที่นี่  !! และมีวิธีคำนวณคะแนนตามหลักการง่าย ๆ ดังนี้
คะแนนเต็ม 30,000
คะแนน GAT/PAT x ค่าน้ำหนัก
หรือ 9 วิชาสามัญ x 3 x ค่าน้ำหนัก

3.4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศคะแนนต่ำสุด TCAS รอบที่ 3/1 ปี 2561 (บางคณะ/สาขา)  สามารถดูรายละเอียดได้  ที่นี่ !!

3.5 มหาวิทยาลัยนเรศวร ใช้วิธีคำนวณคะแนน TCAS รอบที่ 3 เหมือนรอบที่ 4 คือ ใช้ GPAX 20 %, O-NET 30 % และ GAT/PAT 50 %

4. เอาที่ใช่ไม่ติดไม่เป็นไร

เลือกอันดับที่ชอบ ตามอันดับลงไป แม้ว่าสุดท้ายเราจะไม่ติดในรอบนี้ ก็ยังมีรอบที่ 4 ให้ลุ้นต่ออีกนะจ้ะ มันจะดีกว่า ถ้าเราได้เรียนในคณะ/สาขาวิชาที่ชอบ ที่ใช่ ถ้าเรามัวแต่กลัวไม่ติด เราอาจจะพลาดในสิ่งที่อยากเรียนก็ได้นะ รอบนี้มีข้อมูลให้ตัดสินใจน้อย แต่ทุกคนก็มีข้อมูลเท่ากัน ไม่ต้องคิดว่าเราจะเสียเปรียบ ถ้าเราอยากเรียนที่ไหน ประเมินคะแนนตัวเราเอง และยื่นไปเลยจ้า

.

ข้อมูล  :  trueplookpanya.com