ข้อสอบ ตัวหลอกในข้อสอบปรนัย ทำให้ความจำของนักเรียนลดต่ำลง
ข้อสอบปรนัย หรือ ข้อสอบช้อย ที่ใครหลายคนชอบ เพราะสามารถเดาข้อสอบได้ แต่หลายคนอาจจะไม่ชอบใจนัก เมื่อต้องพบกับตัวเลือกหลอกซึ่งบอกว่าคำตอบที่ให้มาทั้งหมดนั้น ถูกทุกข้อ ผิดทุกข้อ หรือถูกต้องเป็นบางข้อ เพราะต้องเค้นสมองวิเคราะห์กันอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางที่อาจารย์วางดักเอาไว้
แม้จะดูเหมือนว่าข้อสอบที่มีตัวเลือกหลอกนั้นยาก และน่าจะใช้วัดผลการเรียนในระดับสูงได้ดี แต่ผลวิจัยล่าสุดจากแวดวงจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์กลับระบุว่า ข้อสอบแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อการสอบวัดผล รวมทั้งต่อความจำและการเรียนรู้ในระยะยาว
“ข้อสอบปรนัยแบบหลายตัวเลือกที่ดีนั้น ควรจะอยู่ในรูปแบบที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้กระบวนการทางสมอง ดึงเอาความรู้ที่ถูกต้องซึ่งจำได้แล้วจากในอดีตออกมาประมวลผลใหม่ ซึ่งการระลึกถึงสิ่งที่จำได้แล้วในแต่ละครั้ง จะทำให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งต่อประเด็นหนึ่ง ๆ ขึ้นมาในรูปแบบใหม่ทุกครั้ง อันเป็นผลจากการประกอบสร้างความทรงจำที่เกี่ยวข้องขึ้นมาใหม่”
“แต่ตัวเลือกหลอกในข้อสอบจะไม่ทำให้เกิดกระบวนการทางสมองที่ว่านี้ โดยผู้ทำข้อสอบจะหันไปมุ่งวิเคราะห์องค์ประกอบทางภาษาของประโยคคำตอบในแต่ละข้อแทน ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ทำข้อสอบใช้การเดามากขึ้นอีกด้วย”
“ข้อสอบที่ดีนั้นควรจะมีระดับความยากมากพอที่จะท้าทายต่อนักเรียนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ควรให้ยากมากจนเกินไป เพราะความล้มเหลวที่เกิดจากการตอบผิดนั้น อาจเสริมให้จำข้อมูลความรู้ผิด ๆ ไว้ในสมองมากขึ้นได้” ศ. บัตเลอร์ บัตเลอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ กล่าวไว้
ข้อสอบแบบหลายตัวเลือกนั้นเริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อตรวจวัดบุคลิกภาพของทหาร และต่อมาเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โดยมักใช้ในการวัดระดับสติปัญญา การสอบคัดเลือกเข้าเรียนหรือเข้าทำงานในสถาบันต่าง ๆ แม้กระทั่งใช้ในแบบทดสอบเพื่อหาคู่ทางออนไลน์
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bbc.com/thai/features-45932612