การกู้เรียน กยศ. ใครกู้ได้บ้าง และมีเงื่อนไขอย่างไร มาเช็คกัน
บางทีการที่เราเรียนหนังสือ ก็อาจที่จะต้องใช้เงินเยอะพอสมควรไหนจะ ค่าเทอม ค่ากิน ค่าหนังสือ และยิ่งถ้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็จะมีค่าอยู่อาศัย ค่าเดินทางเพิ่มเข้ามาอีก การที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ ก็เป็นภาระของผู้ปกครอง ดังนั้น หลายๆ คนคงเคยได้ยินที่ว่า กู้ กยศ. แล้ว การที่เราจะกู้ กยศ. ได้นั้น ต้องมีขั้นตอนยังไงบ้าง มาลองดูกันดีกว่า จ้า
กยศ. คืออะไร
กยศ. คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาโดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าครองชีพให้กับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาที่มีความจำเป็นหรือศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีพ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
ใครกู้ได้บ้าง
นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีพ อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา
วิธีการทำเรื่องขอกู้
1. ผู้กู้ยืมลงทะเบียนรับรหัสผ่านในระบบ e – Studentloan เพื่อรับรหัสผ่าน (ยังไม่ต้องระบุสถานศึกษา)
2. ผู้กู้ยืมยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน
3. สถานศึกษาตรวจสอบคุณสมบัติ
4. สถานศึกษาบันทึกกรอบวงเงินกู้ยืมทั้งปี
5. สถานศึกษาประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิกู้ยืม
6. ผู้กู้ยืมทำสัญญากู้ยืมเงิน
7. สถานศึกษาตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา
8. ผู้กู้ยืมบันทึกค่าเล่าเรียนและ/หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
9. สถานศึกษาพิมพ์แบบลงทะเบียนให้ผู้กู้ลงนาม
10. สถานศึกษาตรวจสอบและยืนยันข้อมูลแบบลงทะเบียน
11. สถานศึกษานำส่งสัญญาและแบบลงทะเบียนฯ ให้ธนาคาร
เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณา
1. แบบคำขอกู้ยืมเงินที่จัดพิมพ์ออกจากระบบ e-Studentloan และแบบคำขอกู้ยืมเงินที่เป็นเอกสาร(แบบ กยศ.101)
2. เอกสารของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
(2.1) สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ
(2.2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. เอกสารของบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง หรือคู่สมรสของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
(3.1) สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ
(3.2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
4. เอกสารประกอบการรับรองรายได้
(4.1) กรณีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือคู่สมรสของผู้ขอกู้ยืมเงินมีรายได้ประจำ ให้ใช้หนังสือรับรองเงินเดือน/สลิปเงินเดือนของบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี
(4.2) กรณีบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน หรือคู่สมรสของผู้ขอกู้ยืมเงินไม่มีรายได้ประจำให้ใช้หนังสือรับรองรายได้ครอบครัวของผู้ขอกู้ยืมเงิน (แบบ กยศ.102) และสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้รับรองรายได้
5. หนังสือแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แนะแนวหรืออาจารย์ที่ปรึกษา (แบบ กยศ.103)
6. แผนผังแสดงที่ตั้งของที่อยู่อาศัย พร้อมรูปถ่ายที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
7. ใบแสดงผลการศึกษา/สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา
8. เอกสารอื่นๆ ซึ่งสถานศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม
คุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงิน กยศ.
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ดังนี้ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หมายความว่า ผู้ที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี รายได้ต่อครอบครัว พิจารณาตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(2.1) รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืม รวมกับรายได้ของบิดามารดา ในกรณีที่บิดา มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
(2.2) รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืม รวมกับรายได้ของผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองมิใช่บิดา มารดา
(2.3) รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืม รวมกับรายได้ของคู่สมรส ในกรณีที่ผู้ขอกู้ยืมได้ทำการสมรสแล้ว
3. มีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
(3.1) เป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีหรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถาบันการศึกษา
(3.2) เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาขั้นร้ายแรง หรือไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น หมกมุ่นในการพนัน เสพยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุราเป็นอาจิณหรือเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิงเริงรมย์เป็นอาจิณ เป็นต้น
(3.3) เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบหรือประกาศการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัดการควบคุมหรือกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง หรือส่วนราชการอื่น ๆ ทบวงมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ
(3.4) ไม่เคยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดๆ มาก่อน
(3.5) ไม่เป็นผู้ที่ทำงานประจำในระหว่างศึกษา
(3.6) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(3.7) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3.8) ต้องมีอายุในขณะที่ขอกู้ โดยเมื่อนับรวมกับระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และระยะเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี
.
ขอบคุณข้อมูล : trueplookpanya.com/tcas/article/detail/66940 , www.studentloan.or.th