เทคนิคการทำ พอร์ตโฟลิโอ สำหรับยื่นรอบแรก แนะนำโดยอาจารย์มหาลัย
รอบ Portfolio (พอร์ตโฟลิโอ) เป็นหนึ่งในรอบการคัดเลือกที่อยู่ใน ระบบ TCAS รอบนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นรอบแรก ใครติดตั้งแต่รอบนี้ สบายไปเลยทั้งปี และรอบนี้รับเยอะด้วย ใครที่อยากจะชิวๆ ไปตั้งแต่ต้น ควรรีบทำ Portfolio กันได้แล้วนะ และควรทำอย่างไร ดี มาลองดูกันดีกว่า
1. Portfolio คือ สิ่งที่แสดงตัวตนและทักษะของเรา
การจัดทำ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน เพื่อ สมัครเข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปก็จะประกอบไปด้วย ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติกิจกรรมและผลงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยยืนยันถึงความสามารถพิเศษ ความสนใจของเรา ที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ต้องการจะศึกษาต่อ
2. เข้าร่วมกิจกรรมถึงไม่ได้รับรางวัลก็ควรใส่มา
ถ้าไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะเรียน ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล ก็ใส่มาใน Portfolio ด้วย อาจจะเป็นรูปถ่าย หรือ เขียนเป็นข้อความมา โดยอาจจะระบุว่า การไปเข้าร่วม วัตถุประสงค์เพื่ออะไร ในด้านวิชาการอยากจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไปเข้าร่วม และอยากจะฝึกฝนตนเองให้มีความเชี่ยวชาญด้านใดบ้าง เป็นต้น
และในการทำ Portfolio ควรจะทำในลักษณะใด ถึงจะดี
1. การออกแบบต้องเรียบง่าย
ในออกแบบ Portfolio เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณานั้น เราต้องคำนึงอยู่เสมอว่า กรรมการนั้นไม่ได้อ่านหรือดูผลงานของเราเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้นเวลาในการพิจารณาผลงานของเราจึงมีจำกัด จึงต้องทำให้ เปิดง่าย อ่านง่าย ให้คณะกรรมการได้เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารให้เร็วที่สุด โดยเราอาจจะเลือกใช้เป็นแฟ้มสำเร็จรูป ก็ได้ เป็นต้น แต่ถ้ามหาวิทยาลัยกำหนด แบบไหน ก็ควรทำแบบนั้นนะจ้ะ ก่อนจะทำพอร์ตก็ควรอ่านระเบียบการก่อนด้วยนะ
2. การเรียงเนื้อหาตามลำดับความสำคัญ
นอกจากการนำเสนอเนื้อหาที่ครบถ้วนแล้ว การเรียงลำดับเนื้อหาก็มีความสำคัญ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสาขาและข้อมูลที่เราอยากให้คณะกรรมการเห็น ควรจัดเรียงไว้อันดับต้นๆ เพราะถ้าหากคณะกรรมการมีเวลาในการพิจารณาผลงานที่จำกัด จะได้ไม่พลาดในการที่จะได้รับรู้ถึงข้อมูลสำคัญที่เราจะนำเสนอ
3. บ่งบอกถึงความเป็นตัวเอง
การที่จะบ่งบอกถึงความเป็นตัวเองไม่ได้หมายความว่า การใส่รูปตัวเองขนาดใหญ่ที่หน้าปก แต่เป็นเรื่องของเนื้อหาและการออกแบบ ในส่วนของการออกแบบ ก็คือ การเลือกสีที่บ่งบอกถึงตัวเรา เพราะสีทุกสี ล้วนมีความหมาย มีอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป การกำหนด Theme ในการออกแบบ อาจจะมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ Modern, Vintage เป็นต้น
.
ขอบคุณข้อมูล : มหาวิทยาลัยนเรศวร